OEM คือ อะไร

OEM คืออะไร? ทำความรู้จักคีย์เวิร์ดสำคัญที่เจ้าของแบรนด์ต้องรู้ 

ผู้ที่ต้องการสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์อาหารเสริม สร้างแบรนด์เครื่องสำอาง สร้างแบรนด์สกินแคร์ หรือของกิน/ของใช้ต่าง ๆ สิ่งแรกที่คุณต้องมองหาคือโรงงานรับผลิตที่ได้มาตรฐานซึ่งคุณอาจจะเห็นว่าแต่ละโรงงานมีชื่อเรียกไม่เหมือนกันทั้งแบบ ‘OEM’ และ ‘ODM’ โดยทั้งสองแบบนี้ก็ล้วนเป็นโรงงานรับผลิตทั้งสิ้น แล้วเจ้าของแบรนด์อย่างคุณควรเลือกโรงงานแบบไหนดีเพื่อที่จะได้ตอบโจทย์กับธุรกิจและกลุ่มเป้าหมายของคุณ วันนี้เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับโรงงานทั้ง 2 ประเภทนี้กัน

OEM คืออะไร

OEM คืออะไร

OEM ย่อมาจาก Original Equipment Manufacturer ซึ่งก็คือโรงงานที่ออกแบบและพัฒนาสินค้าตามแบบที่ลูกค้ากำหนด เช่น คุณวางคอนเซปต์ของสินค้าไว้เรียบร้อยแล้วว่าต้องการสินค้าแบบนี้ รูปแบบประมาณนี้ หรือต้องการคุณภาพระดับนี้ก็สามารถปรึกษาให้โรงงานผลิตได้ โดยโรงงานประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีผู้เชี่ยวชาญหลายด้านทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบ ด้านกระบวนการผลิต ไปจนถึงการช่วยลูกค้าสร้างแบรนด์เพื่อให้ตอบสนองกับกลุ่มเป้าหมาย อย่างแบรนด์ดัง ๆ หลายรายก็เลือกผลิตกับโรงงาน OEM เช่นเดียวกัน เพราะโรงงานเหล่านี้จะมีกำลังการผลิตสูงซึ่งดีกว่าการลงทุนสร้างโรงงานเอง ลูกค้าเพียงแค่บอกความต้องการของตัวเองกับทางโรงงานเท่านั้น

ส่วนใหญ่ธุรกิจความงามและอาหารเสริมมักจะเลือกผลิตกับโรงงานประเภทนี้เพราะถือว่ามันช่วยสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ให้กับผู้ประกอบการได้อย่างมากไม่ว่าจะเป็นรายย่อยหรือรายใหญ่ก็ตาม เนื่องจากพวกเขาไม่จำเป็นต้องลงทุนหลายล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานเป็นของตัวเองก็สามารถสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองได้ ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ Win-Win ทั้งคู่และถึงแม้ว่าสินค้าจะผลิตจากโรงงานเดียวกันแต่ก็ใช่ว่ามันจะเหมือนกันทั้งหมดเพราะความต้องการของลูกค้าแต่ละรายทั้งคุณภาพและวัตถุดิบอาจแตกต่างกันไป

ข้อดีของโรงงาน OEM

  • ขั้นต่ำในการเริ่มต้นสั่งผลิตไม่สูง จึงคุ้มสำหรับผู้ที่ต้องการสั่งผลิตในปริมาณที่ไม่มากเกินไปหรือต้องการผลิตล็อตใหญ่ก็สามารถทำได้
  • สามารถจัดหาวัตถุดิบให้กับคุณในราคาที่คุ้มค่ามากที่สุด เพราะจากประสบการณ์ของโรงงานจึงมีแหล่งและดีลเลอร์ที่ดีที่สุด
  • ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์
  • ให้คำปรึกษาได้รอบด้านนอกเหนือจากการผลิตสินค้า เช่น บรรจุภัณฑ์ การออกแบบโลโก้ หรือไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาดก็ตาม

ข้อเสียของโรงงาน OEM

  • ลูกค้าต้องกำหนดความต้องการของสินค้าเองเพื่อนำมาเสนอให้โรงงานผลิต

ODM คืออะไร

ODM คืออะไร

ODM คือ Original Design Manufacturer ซึ่งก็เป็นโรงงานผลิตที่รับออกแบบและพัฒนาสินค้าเพื่อให้บริษัทต่าง ๆ นำสินค้าเหล่านั้นไปขายในแบรนด์ตัวเองโดยลูกค้าไม่ต้องคิดคอนเซปต์ของสินค้าใด ๆ ทั้งสิ้น ทางโรงงานจะออกแบบมาให้เรียบร้อยและนำสินค้าไปเสนอขายให้กับบริษัทที่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว หรือลูกค้าที่กำลังมองหาสินค้าที่ตัวเองต้องการสามารถค้นหาโรงงาน ODM ที่รับผลิตสินค้าชนิดนั้นโดยเฉพาะได้ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยลดภาระในการออกแบบสินค้าของเจ้าของธุรกิจได้ดี

อย่างเช่น คุณอาจจะเคยเห็นสายชาร์จโทรศัพท์ที่หน้าตาดูเหมือนกันเป๊ะทุกอย่างแต่แตกต่างกันที่แบรนด์และบรรจุภัณฑ์ เพราะส่วนใหญ่แล้วสินค้าเหล่านี้จะมาจากโรงงาน ODM ทั้งสิ้นคือทางโรงงานมีสินค้าที่ลูกค้าต้องการอยู่แล้ว เพียงแค่ออกแบบแบรนด์และแพ็กเกจต่าง ๆ ให้แตกต่างกันไปเพื่อที่ลูกค้าจะสามารถนำไปติดแบรนด์ของตัวเองได้ หรือทางโรงงานที่ผลิตสายชาร์จเห็นว่ามีแบรนด์หนึ่งที่แข็งแกร่งในด้านอุปกรณ์เสริมสำหรับโทรศัพท์มือถือ โรงงานก็สามารถนำสินค้าของตัวเองไปเสนอขายกับแบรนด์และตีตราสินค้าเป็นของแบรนด์นั้นได้เช่นกัน

ข้อดีของโรงงาน ODM

  • ต้นทุนการผลิตไม่สูงมาก
  • ช่วยลดภาระในการคิดและออกแบบสินค้าได้

ข้อเสียของโรงงาน ODM

  • เกิดสินค้าลอกเลียนแบบเต็มท้องตลาด
  • เมื่อเกิดปัญหาอาจมีข้อโต้เถียงกันเรื่องความรับผิดชอบระหว่างแบรนด์กับโรงงาน
  • หากต้องการนำสินค้าของโรงงานไปพัฒนาจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง

เปรียบเทียบชัด ๆ OEM และ ODM แตกต่างกันอย่างไร?

ความแตกต่างระหว่าง OEM กับ ODM

โรงงานทั้งสองประเภทนี้หากมองผิวเผินอาจจะดูคล้ายกัน แต่ถ้ามองลึกลงไปจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งอาจเปรียบได้ว่า OEM จะเน้นไปที่การให้บริการโดยจะผลิตสินค้าในแบบที่ลูกค้าสั่งเท่านั้น ส่วน ODM จะเน้นไปที่การผลิตสินค้าโดยเฉพาะซึ่งจะผลิตสินค้าประเภทตามที่โรงงานเชี่ยวชาญอยู่แล้วแม้จะไม่มีลูกค้าออกแบบสินค้าให้ก็ตาม เนื่องจากโรงงานสามารถพัฒนาและนำผลิตภัณฑ์ไปเสนอแก่ลูกค้าได้

หากคุณกำลังมองหาโรงงานรับผลิตอยู่คุณสามารถดูข้อเปรียบเทียบได้ว่าสินค้าหรือกลุ่มเป้าหมายของคุณเหมาะกับโรงงานประเภทใด ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

โรงงาน OEM โรงงาน ODM
  • เจ้าของแบรนด์มีอำนาจในการตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว
  • อำนาจในการตัดสินใจต้องขึ้นอยู่กับทั้งเจ้าของแบรนด์และโรงงานผู้ผลิต
  • สินค้ามีความเป็นเอกลักษณ์และแตกต่าง
  • สินค้ามีความคล้ายคลึงกันเต็มท้องตลาด
  • เจ้าของแบรนด์มีสิทธิ์ปรับแต่งหรือเปลี่ยนแปลงสินค้าของตัวเองได้อย่างเต็มที่
  • เจ้าของแบรนนด์มีโอกาสน้อยในการปรับแต่งหรือเปลี่ยนแปลงสินค้า
  • สินค้ามีการลอกเลียนแบบคุณภาพจากคู่แข่งได้ยากเนื่องจากต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบต่าง ๆ
  • เกิดสินค้าลอกเลียนแบบได้ง่าย
  • ต้องใช้ระยะเวลาในการทดลองสินค้าหรือพัฒนาสูตร
  • ไม่ต้องใช้ระยะเวลาทดลองสินค้าหรือพัฒนาสูตรนาน เนื่องจากโรงงานเชี่ยวชาญด้านการผลิตสินค้าแบบนั้น ๆ อยู่แล้ว
  • เจ้าของแบรนด์ต้องคิดคอนเซ็ปต์ของสินค้าเพื่อนำเสนอแก่โรงงาน
  • ทางโรงงานออกแบบสินค้าให้เอง

เจ้าของแบรนด์ควรเลือกโรงงานแบบใด

เจ้าของแบรนด์ควรเลือกโรงงานแบบใด

 ผู้ที่ต้องการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองและต้องการทำให้สินค้าติดตลาด อยู่ในตลาดได้นานควรเลือกผลิตสินค้ากับ ‘โรงงาน OEM’ เนื่องจากอันดับแรกเลยคุณไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานเองหรือลงเงินไปกับการซื้อเครื่องจักรเอง โรงงานประเภทนี้จะมีเครื่องจักรสำหรับการผลิตสินค้าโดยเฉพาะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้เยอะเลยทีเดียวและยังสามารถพัฒนาสินค้าของคุณได้อีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องการสร้างแบรนด์เครื่องสำอาง สกินแคร์ หรือสร้างแบรนด์อาหารเสริมเป็นของตัวเองการเลือกโรงงานโออีเอ็มนั่นถือว่าช่วยตอบโจทย์ต่อธุรกิจของคุณได้อย่างมาก เนื่องจากโรงงานประเภทนี้จะช่วยสร้างความโดดเด่นและความเป็นเอกลักษณ์ให้กับสินค้าของคุณ ทำให้สินค้าของคุณไม่ซ้ำใครในตลาดไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสูตรใหม่ การออกแบบโลโก้/บรรจุภัณฑ์ การตรวจสอบคุณภาพสินค้า ตลอดจนการเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดให้แก่เจ้าของแบรนด์

แตกต่างจาก ‘โรงงาน ODM’ ที่เน้นไปในด้านการผลิตสินค้าของโรงงานตัวเองมากกว่าการสร้างแบรนด์ให้กับลูกค้า ผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจอยู่แล้วและอยากหาสินค้าใหม่ ๆ เพื่อนำมาขายในแบรนด์ของตัวเองก็สามารถติดต่อกับโรงงานประเภทนี้ได้ โดยพวกเขาจะมีสินค้าที่คุณต้องการอยู่แล้วเพียงแค่ต้องทำการรีแบรนด์โดยออกแบบแพ็กเกจใหม่เพื่อทำให้สินค้าดูแตกต่างกันนั่นเอง

วิธีเลือกโรงงาน OEM อย่างไรให้ตอบโจทย์

วิธีเลือกโรงงาน OEM อย่างไรให้ตอบโจทย์

 ปัจจุบันนี้การสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอุตสาหกรรมความงามที่ยังไงก็ไม่มีวันดับ เนื่องจากผู้บริโภคยังคงต้องดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองรวมถึงดูแลหน้าตาผิวพรรณต่าง ๆ ให้ดูดีและสวยงามอยู่เสมอ ผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างแบรนด์อาหารเสริมหรือเครื่องสำอางเป็นของตัวเอง คุณสามารถพิจารณาเลือกโรงงานให้ตอบโจทย์ได้ดังนี้

  1. เลือกโรงงานที่มีบริการครบวงจร

โรงงานที่ให้บริการแบบครบวงจรหรือที่เรียกว่า “One Stop Service” จะช่วยประหยัดเวลาในการดำเนินงานและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการไปติดต่อหลาย ๆ ที่ได้เยอะเลยทีเดียว เจ้าของแบรนด์ควรเลือกโรงงานที่มีตั้งแต่การให้คำปรึกษา ช่วยพัฒนาสินค้า ให้บริการด้านออกแบบบรรจุภัณฑ์/โลโก้ มีบริการแพ็กสินค้า ตลอดจนถึงการขนส่งให้ถึงมือลูกค้า

  1. สามารถยื่นขอ อย. ให้ได้

ผลิตภัณฑ์จำพวกอาหารและเครื่องสำอางต้องมีการจัดเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขอเลข อย. ซึ่งขั้นตอนตรงนี้ถือว่ามีความยุ่งยากไม่ใช่น้อยในการเตรียมเอกสารและดำเนินงาน หากคุณเลือกโรงงานที่มีบริการตรงนี้ให้ก็จะช่วยลดภาระและช่วยลดเวลาให้กับเจ้าของแบรนด์ได้มากเลยทีเดียว

  1. มีที่ปรึกษาด้านการตลาด

หากคุณมีความรู้เกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ของคุณแต่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดเลย ธุรกิจของคุณก็อาจไปไม่ถึงเป้าได้ ดังนั้นจึงต้องเลือกโรงงานที่สามารถให้คำปรึกษาด้านการตลาดได้ว่าสินค้าแบบไหนหรือช่องทางการขายแบบไหนที่กำลังเป็นกระแสและได้รับความนิยมในปัจจุบันนี้

  1. ได้มาตรฐานการผลิต

ยิ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคใช้กินหรือทายิ่งต้องมีคุณภาพสูง ดังนั้นแล้วเจ้าของแบรนด์จึงต้องเลือกโรงงานที่ได้มาตรฐานการผลิตระดับสากล เช่น GMP, ISO, HALAL และ HACCP เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าสินค้าของคุณมีมาตรฐาน ไม่มีสารที่ก่อให้เกิดอันตรายในผลิตภัณฑ์ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

  1. มีสินค้าทดลองก่อนสั่งผลิตจริง

เมื่อคุณพูดคุยปรึกษารายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว ทางโรงงานต้องมีการผลิตตัวทดลองออกมาให้เจ้าของแบรนด์ดูก่อนสั่งผลิตจริง เช่น หากคุณต้องการสร้างแบรนด์ลิปสติกโรงงานต้องให้ดูสินค้าตัวทดลองก่อนว่าเฉดสีที่สั่งหรือเนื้อลิปสติกตรงตามแบบหรือไม่  เพราะหากยังไม่ตรงใจเจ้าของแบรนด์จะสามารถปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขได้ หากสั่งผลิตจริงแล้วจะไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนสูตรได้แล้ว

ปัจจุบันนี้ใคร ๆ ก็สามารถสร้างแบรนด์สินค้าได้แต่การผลิตสินค้าให้ออกมามีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภคเจ้าของแบรนด์ต้องเลือกโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการขนส่งไม่ว่าจะเป็นโรงงาน OEM หรือ ODM ก็ตาม เพราะหากสินค้าของคุณมีคุณภาพและได้ผลลัพธ์ที่ดีจริง แบรนด์ของคุณก็จะได้รับการบอกต่อจากลูกค้าสู่ลูกค้าทำให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยากเลย

อ้างอิง : 

  1.  https://oem-cosmetic.com/en/blog/what-is-oem-cosmetic
  2.  https://seller.alibaba.com/businessblogs/pxpl2vs9-oem-vs-odm-manufacturing-whats-the-difference
  3.  https://youtu.be/7pGO369AfrQ
Scroll to Top