การตั้งชื่อแบรนด์ บางคนอาจจะคิดว่าไม่สำคัญเลยเลือกออกแบบชื่อแบรนด์ตามใจในแบบที่ตัวเองชื่นชอบแต่ลืมนึกถึงกลุ่มลูกค้าว่าจะออกเสียงยากไหม? หรือชื่อยาวเกินไปหรือเปล่า ลูกค้าจะจำได้ไหม? เพราะบางทีคำว่า “ธรรมดาโลกไม่จำ” อาจใช้ได้กับอย่างอื่นแต่ไม่ใช่สำหรับการตั้งชื่อแบรนด์ ฉะนั้นแล้วเจ้าของแบรนด์ที่กำลังจะเริ่มสร้างธุรกิจอย่าลืมออกแบบชื่อแบรนด์ให้โดนใจกลุ่มลูกค้าให้ได้ตั้งแต่แรกเห็น และวันนี้เราจะพาคุณมาดูกันว่าการตั้งชื่อแบรนด์ให้ธุรกิจปังนั้นจะต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง
ทำไมการออกแบบชื่อแบรนด์ถึงสำคัญ?
ในแต่ละวัน ผู้บริโภคหลายคนต้องรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ในปริมาณที่เรียกว่ามหาศาลเลยก็ว่าได้ สมองของมนุษย์จึงเลือกที่จะรับรู้และจดจำเพียงข้อมูลที่จำได้ง่ายเท่านั้น ฉะนั้นแล้วการตั้งชื่อแบรนด์จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เจ้าของแบรนด์ควรคำนึงถึงเพราะชื่อแบรนด์ที่ดีและจดจำง่ายอาจโดนใจผู้ที่พบเห็นตั้งแต่ครั้งแรกเลยก็ว่าได้ ซึ่งถ้าหากตั้งชื่อแบรนด์ที่อ่านยากหรือมีหลาย ๆ พยางค์คนส่วนใหญ่ก็อาจจะจำไม่ได้ การตั้งชื่อแบรนด์จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามเลย
ยิ่งในปัจจุบันนี้มีแบรนด์สินค้าและบริการหน้าใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การตั้งชื่อแบรนด์จึงต้องเพิ่มความใส่ใจและละเอียดอ่อนกับชื่อแบรนด์เพื่อให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของธุรกิจมากขึ้น มาดูตัวอย่างรูปแบบของการตั้งชื่อแบรนด์กันว่าการที่จะคิดชื่อมาสักหนึ่งชื่อนั้น สามารถตั้งชื่อโดยใช้แนวความคิดใดได้บ้าง
-
ชื่อแบรนด์ลักษณะเปรียบเปรย
คุณอาจจะเคยได้ยินคำว่า “ภาพหนึ่งภาพมีค่าเท่ากับคำพูดเป็นพันคำ” ซึ่งคำเปรียบเปรยก็เช่นเดียว หลายคนจึงนิยมนำคำที่รู้จักกันในระดับสากลทั่วโลกมาใช้ตั้งชื่อแบรนด์โดยเปรียบเปรยความหมายของธุรกิจตามลักษณะของคำนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น
- Jaguar – เสือจากัวร์มีลักษณะที่โดดเด่นด้านความคล่องแคล่ว แบรนด์ Jaguar จึงเปรียบว่ารถของเขาเป็นรถยนต์ที่มีความคล่องแคล่ว
- Amazon – ป่าที่มีพื้นที่กว้างขวางและอุดมสมบูรณ์ จึงเปรียบได้ว่าแพลตฟอร์มนี้มีสินค้าให้เลือกสรรได้อย่างมากมายมหาศาล
-
ชื่อแบรนด์ที่อธิบายเกี่ยวกับธุรกิจตัวเอง
การตั้งชื่อแบรนด์ในลักษณะนี้เป็นวิธีที่สื่อสารกับคนทั่วไปได้ง่ายที่สุด เมื่อมีผู้คนพบเห็นก็จะพอเดาออกว่าธุรกิจของคุณทำเกี่ยวกับอะไรทำให้เข้าใจได้ง่าย แต่หากคุณเป็นคนที่อยู่ในวงการนั้นเป็นรุ่นหลัง ๆ คุณจะพบว่าคำเหล่านั้นมีการนำเอาไปใช้แล้ว จึงต้องมีการพลิกแพลงคำหรือเรียงลำดับคำใหม่ ยกตัวอย่างเช่น
- Bangkok Airways – ธุรกิจสายการบิน
- Skinfood – ธุรกิจความงาม
- Biopharma – ธุรกิจเกี่ยวกับการแพทย์
- World Camera – ธุรกิจเกี่ยวกับกล้อง
-
ชื่อแบรนด์ที่สร้างความเชื่อ
การที่เจ้าของแบรนด์เข้าไปอยู่ในกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าและมองว่าลูกค้าต้องการอะไรหรือเข้าใจปัญหาของลูกค้าและพร้อมที่จะช่วยแก้ไขให้ ก็สามารถนำมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ได้เช่นกัน หรือการกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกร่วมว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องเดียวกันอยู่ก็ช่วยได้ ยกตัวอย่างเช่น
- Pampers – แบรนด์ผ้าอ้อมเด็ก
- ZARA – แบรนด์เสื้อผ้าผู้หญิง
- Victoria’s Secret – แบรนด์ชุดชั้นในผู้หญิง
-
ชื่อแบรนด์ที่เกิดจากการประดิษฐ์คำมาใหม่
ชื่อแบรนด์ประเภทนี้อาจเป็นคำที่ไม่มีความหมายเลยก็ได้ คุณสามารถคิดชื่ออะไรขึ้นมาก็ได้ ซึ่งมันจะดีตรงที่ชื่อของคุณจะไม่ซ้ำใครและเหมาะกับแบรนด์ที่มีธุรกิจหลากหลาย แต่ข้อเสียของมันก็คือคุณต้องทุ่มงบการตลาดขนาดใหญ่เพื่อสื่อสารให้ลูกค้ารู้ว่าธุรกิจของคุณคืออะไร ยกตัวอย่างเช่น
- Kodak – แบรนด์กล้องถ่ายรูป
- Xerox – แบรนด์เครื่องถ่ายเอกสาร
-
ชื่อแบรนด์ที่ยั่งยืน
ชื่อแบรนด์ที่ยั่งยืน หมายถึง ชื่อที่ไม่ได้ตั้งตามเทรนด์และสามารถอยู่ได้ในระยะยาว ส่วนใหญ่มักจะเป็นชื่อกลาง ๆ ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะแตกไลน์ออกไปอย่างไรบ้างในอนาคตแต่จะเป็นชื่อที่มีความหมายดี ซึ่งวิธีนี้อาจจะไม่โดดเด่นเท่าไหร่แต่ก็มีให้เห็นอยู่ได้ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น
- Goldenland
- HealthLand
- True
-
ชื่อแบรนด์ที่นำคำมาผสมผสานกัน
ชื่อแบรนด์แนวนี้ส่วนใหญ่มักจะนำมาตั้งชื่อกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยการนำคำสองคำที่มีความหมายในตัวอยู่แล้วมาผสมกันจนเกิดเป็นคำใหม่ที่ผู้พบเห็นอาจจะเดาได้ว่าแบรนด์นั้นทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร ยกตัวอย่างเช่น
- Netflix – Net มาจากคำว่า Internet + Flix มาจากคำว่า โรงหนัง
- Instagram – มาจากคำว่า Instant camera + Telegram
- Pinterest – มาจากคำว่า Pin + Interest
-
ชื่อแบรนด์ที่สร้างคำนิยามใหม่
การตั้งชื่อแบรนด์รูปแบบนี้ผู้ประกอบการต้องมั่นใจว่าตัวเองเป็นผู้บุกเบิกคนแรกในวงการนั้น ซึ่งความหมายของคำอาจจะแตกต่างจากความหมายจริง ๆ โดยสิ้นเชิงและเป็นการให้ความหมายในคำ ๆ นั้นใหม่ในแบบฉบับของตัวเองอีกด้วย แต่สินค้าหรือบริการของคุณก็จะต้องแตกต่างและโดดเด่นพอที่จะเรียกความสนใจจากลูกค้าได้ด้วยเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น
- Uber – แอปพลิเคชั่นที่ใช้เรียกรถแท็กซี่
- Apple – บริษัทพัฒนาอุปกรณ์และเทคโนโลยี
- Slack – โปรแกรมสื่อกลางในการทำงาน
- Yahoo! – ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
- Nespresso – ธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟ
-
ชื่อที่ตั้งตามจุดเด่นของแบรนด์
การที่แบรนด์นำจุดเด่นในด้านการบริการหรือสินค้าของตัวเองมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของคุณเป็นที่รู้จักและเรียกได้ว่ามีความชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งถือว่าเป็นการบอกเล่าเรื่องราวกับลูกค้าได้เป็นอย่างดีว่าบริษัทของคุณกำลังดำเนินกิจการด้านใดกันแน่ ยกตัวอย่างเช่น
- FlowAccount
- SnapChat
- Grab
-
ชื่อแบรนด์ที่บ่งบอกถึงสถานะ
รูปแบบการตั้งชื่อแบรนด์อีกอย่างหนึ่งที่มักจะใช้เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของแบรนด์คือการบอกสถานะที่ไม่ว่าจะเป็นคำภาษาอังกฤษที่แปลว่า ราชาแห่ง…, ที่สุดของ…,ผู้นำในวงการ… ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่น
- BestBuy
- BurgerKing
- CapitialOne
-
ชื่อที่บ่งบอกถึงลักษณะของแบรนด์
อีกหนึ่งรูปแบบของการออกแบบชื่อแบรนด์ คือ การออกแบบชื่อโดยนำบางส่วนของธุรกิจของคุณมาตั้งชื่อเพื่อให้แบรนด์มีภาพจำเกี่ยวกับประเภทธุรกิจที่ถูกต้อง แม้ว่าชื่อแนวนี้อาจจะดูธรรมดาและไม่ได้มีความโดดเด่นเท่าไหร่แต่มันช่วยทำให้ลูกค้าเข้าใจถึงรูปแบบธุรกิจของคุณได้ ยกตัวอย่างเช่น
- Traveloka
- FoodPanda
- PayPal
- JetBlue
วิธีการตั้งชื่อแบรนด์อย่างไรให้ธุรกิจปังตั้งแต่เริ่ม
- ตั้งชื่อแบรนด์ให้สอดคล้องกับธุรกิจ : ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะเป็นการจำหน่ายสินค้าหรือบริการหากตั้งชื่อให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ของคุณ จะช่วยให้กลุ่มลูกค้าสามารถรับรู้ได้ทันทีว่าธุรกิจของคุณทำเกี่ยวกับอะไร
- ตั้งชื่อกลาง ๆ : หากธุรกิจของคุณคิดว่าอาจจะมีการแตกไลน์ออกให้อนาคต ควรตั้งชื่อกลาง ๆ ไว้ก่อน เช่น Sony ที่แตกไลน์เป็น Sony music และ Sony computer entertainment
- ชื่อต้องสอดคล้องกันทั้งภาษาอังกฤษและไทย : ชื่อทางการค้าทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในธุรกิจของคุณต้องมีหมายความที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
- ใส่สโลแกน : คุณอาจเพิ่มสโลแกนสั้น ๆ ให้ติดปากและเพื่อให้ลูกค้าจดจำได้ว่าแบรนด์ของคุณคืออะไร เช่น Laneige = สู่ผิวเนียนและชุ่มฉ่ำ หรือ Smooth E Gold = ขาวตึง อ่อนเยาว์
- งดใช้ชื่อตามกระแส : ไม่ควรออกแบบชื่อแบรนด์โดยใช้คำที่เป็นกระแสในช่วงนั้น เพราะสิ่งที่เป็นกระแสมักจะมาเร็วไปเร็ว
ชื่อแบรนด์แบบไหนที่ไม่ควรตั้งและผิดกฎหมาย
‘ชื่อแบรนด์’ เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่จะอยู่กับธุรกิจของคุณยาวนานที่สุด ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดสักกี่แบบสิ่งที่ไม่ได้เปลี่ยนตามก็คือชื่อแบรนด์นั่นเอง ดังนั้นการที่เจ้าของแบรนด์ใช้เวลาในการไตร่ตรองเพื่อคิดชื่อแบรนด์ดี ๆ ขึ้นมานั่น ถือว่าเป็นกิจกรรมและรายละเอียดที่ควรใส่ใจ นอกจากนี้การตั้งชื่อแบรนด์ยังสามารถเป็นปัญหาทางด้านกฎหมายได้อีกด้วย ทำให้เจ้าของแบรนด์อาจจะต้องเสียรายได้หรือบางทีก็อาจจะเสียธุรกิจไปได้เลย มาดูกันว่าชื่อแบรนด์แบบไหนที่คุณไม่ควรตั้ง
- ชื่อแบรนด์ที่เหมือนหรือคล้ายกับผู้อื่น
หากชื่อแบรนด์ของคุณเหมือนหรือคล้ายกับของผู้อื่นอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนได้ และผู้ที่จดทะเบียนไว้ก่อนจะสามารถบังคับใช้สิทธิและดำเนินคดีกับผู้ที่ตั้งชื่อแบรนด์ที่มีความคล้ายคลึงกับของตนเองได้
(ที่มารูปภาพ : https://mgronline.com/live/detail/9560000132499)
- ชื่อแบรนด์ที่มีการอ้างถึงสรรพคุณ
การตั้งชื่อแบรนด์ที่มีคำว่า ออแกร์นิค, พรีเมียม, Low Cal หรือคำอื่น ๆ อีกมากมายอาจผิดต่อข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) หากผลิตภัณฑ์นั้นไม่ได้มีสรรพคุณอย่างที่กล่าวอ้างจริง เช่น มีการตั้งชื่อแบรนด์ที่มีคำว่า “Low Calorie” แต่ผลิตภัณฑ์ของคุณมีแคลอรี่ถึง 200 กิโลแคลอรี่ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคทำให้เกิดปัญหากับ อย.
- ชื่อแบรนด์ที่เป็นคำต้องห้ามตามกฎหมาย
คำต้องห้ามสำหรับการนำมาตั้งชื่อแบรนด์ก็คือคำจำพวก ชื่อจังหวัด, แหล่งทางภูมิศาสตร์, คำล่อแหลม ลามก อนาจาร หรือโลโก้แบรนด์ที่มีรูปธงชาติ, เครื่องหมายทางราชการ, สัญลักษณ์ทางศาสนา หรือเฉดสีและรูปทรงที่มีลักษณะตามคำต้องห้ามก็ควรหลีกเลี่ยงด้วยเช่นเดียวกัน
เห็นไหมล่ะว่า ‘การตั้งชื่อแบรนด์’ มีความละเอียดอ่อนและต้องพิถีพิถันใส่ใจในการออกแบบชื่อแบรนด์ขึ้นมากันสักนิด เพราะบางทีชื่อที่คุณชื่นชอบก็อาจจะผิดต่อหลักกฎหมายได้หรือการตั้งแบรนด์ที่ยาวเกินไปและออกเสียงยากก็อาจทำให้กลุ่มลูกค้าจำได้ยากหรืออาจเกิดความสับสนได้เช่นกัน หากจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์มาจากการคิดชื่อแบรนด์ที่ดีมันก็จะสะท้อนถึงความใส่ใจและส่งผลต่อภาพลักษณ์ในธุรกิจของคุณได้
อ้างอิง :